ประวัติวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม

ประวัติความเป็นมาของวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม

        มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม  เป็นวิทยาเขตลำดับที่ ๑๐ ของมหาวิทยาลัย  ได้รับการจัดตั้งเป็นวิทยาเขตตามประกาศมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ ๔๘/๒๕๓๗  ลงวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังต่อไปนี้
พ.ศ. ๒๕๓๐ :  จัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาภาษาบาลี ตามหลักอันมาในคัมภีร์สัททาวิเสส โดยใช้ชื่อว่า  “สถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส”
พ.ศ. ๒๕๓๕ :  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รับสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆสเข้าเป็นส่วนงานระดับสถาบันของมหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานอธิการบดี
พ.ศ. ๒๕๓๗ :  จัดตั้งเป็น “วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม”ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ ๔๘/๒๕๓๗ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๗ จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์

ประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  โดยแบ่งเป็นยุคๆ ดังนี้

ยุคก่อตั้งสถาบันการศึกษาคัมภีร์สัททาวิเสส  (พ.ศ. ๒๕๓๐)

            พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.๙, M.A., Ph.D.) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุทธิพงศ์  เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า  “สถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส”  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาบาลีตามแนวคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูงอันได้แก่คัมภีร์สัททาวิเสส  เพื่อเป็นการวางพื้นฐานความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาบาลีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการศึกษาพระไตรปิฎก ได้อย่างถูกต้องตรงตามพุทธประสงค์ทั้งอรรถะและพยัญชนะ อันจะช่วยให้ถ่ายทอดอรรถสาระแห่งพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีสู่ภาษาไทยหรือภาษาอื่นใดโดยไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการจรรโลงพระสัทธรรมให้คงอยู่ชั่วกาลนาน

            แรงบันดาลใจในการจัดตั้งสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆสได้เริ่มขึ้น เมื่อครั้งพระพรหมโมลีดำรง สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุทธิพงศ์ เป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ชั้นประโยค ป.ธ.๗  ประจำสำนักเรียนวัดชนะสงคราม  ได้ทราบว่าวัดท่ามะโอ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  เปิดสอนวิชาภาษาบาลีตามหลักคัมภีร์ภาษาบาลีชั้นสูงอันได้แก่ คัมภีร์ไวยากรณ์, อภิธานัปปทีปิกา, วุตโตทัย  และสุโพธาลังการ  เมื่อเรียนจบคัมภีร์ทั้ง ๔ นี้แล้วจะมีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีเป็นอย่างดี  สามารถวินิจฉัยศัพท์วิจัยธรรมได้อย่างมีกฎเกณฑ์และหลักการ 

            เมื่อพระพรหมโมลีศึกษาพินิจพิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์แล้วเห็นว่า การศึกษา ภาษาบาลีปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะทำให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญแตกฉานภาษาบาลี เพียงพอต่อการศึกษาวิเคราะห์อรรถสาระในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้อย่างลุ่มลึก  ท่านจึงเริ่มศึกษาค้นคว้างานด้านคัมภีร์สัททาวิเสสอย่างจริงจัง  คัมภีร์แรกที่เริ่มศึกษาและดำเนินการปริวรรตจนจบเป็นเล่มคือ  คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฎีกา และเพื่อให้งานด้านการศึกษาคัมภีร์เหล่านี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ท่านจึงลาพักงานประจำต่าง ๆ ในขณะนั้น  คืองานในตำแหน่งคณบดี  คณะพุทธศาสตร์  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ชื่อในขณะนั้น)  งานในตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๓  และงานสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่วัดชนะสงคราม เป็นการชั่วคราว  เดินทางไปจำพรรษาที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง  เมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๒๘  เพื่อศึกษาถึงวิธีการ กระบวนการ การเรียนการสอนคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูงทั้ง ๔ นั้นมาจัดการเรียนการสอนให้แพร่หลายทั่วไป 

            ช่วงเวลาที่พระพรหมโมลีจำพรรษาที่วัดท่ามะโอจังหวัดลำปาง มีโอกาสพบคัมภีร์ทางภาษาบาลีอีกมากมายที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะคัมภีร์  “อภิธานติปิฏกะ” หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า  “ปทานุกรมพระไตรปิฎก”  เป็นหนังสือปทานุกรมพระไตรปิฎกที่พระเถระผู้เป็นนักปราชญ์ชาวพม่าได้ร่วมกันจัดทำขึ้น  โดยนำศัพท์บาลีจากพระไตรปิฎกทั้งหมดที่ไม่ซ้ำกันมากระจายรูปคำหารากศัพท์ว่าเดิมเป็นมาอย่างไร  มีความหมายอย่างไร  และมีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่เท่าใด  หน้าใด  หรือมีปรากฏในคัมภีร์อื่น ๆ นอกจากพระไตรปิฎกหรือไม่อย่างไร

            หลังจากจำพรรษาที่วัดท่ามะโอได้หนึ่งพรรษา   ท่านก็ได้เดินทางกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัด  ชนะสงคราม  และได้ดำเนินการขอต้นฉบับคัมภีร์อภิธานติปิฏกะจากสถานทูตพม่า (ชื่อในขณะนั้น)  แล้วตั้งคณะทำงานเพื่อแปลเป็นภาษาไทย  แต่ก็ประสบปัญหาในการทำงานเนื่องจากคณะทำงานไม่เคย เรียนคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง   จึงไม่สามารถวินิจฉัยศัพท์วิจัยธรรมได้อย่างมีกฎเกณฑ์และหลักการ พระพรหมโมลีจึงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พระภิกษุสามเณร ได้มีโอกาสศึกษาคัมภีร์หลัก ภาษาบาลีชั้นสูง  เมื่อพระภิกษุสามเณรศึกษาและแตกฉานคัมภีร์เหล่านี้แล้วก็จะสามารถศึกษาคัมภีร์ ทางพระพุทธศาสนาระดับต่างๆ ได้โดยง่าย  ทั้งสามารถวินิจฉัยศัพท์วิจัยธรรมได้อย่างถูกต้อง  ท่านจึง จัดทำโครงการจัดตั้งสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆสขึ้น  เพื่อให้เป็นสถานศึกษาคัมภีร์ดังกล่าว  โดยเริ่มแรก นั้น  คุณมงคล-คุณวนิดา  วัฒนเกียรติสรร  เจ้าของบริษัทเมอรี่คิงส์  จำกัด  มีศรัทธาปวารณามอบที่ดินที่อำเภอบางเลน  จังหวัดนครปฐม เมื่อท่านได้ไปตรวจดูสภาพแวดล้อมเช่นการคมนาคมก็พบว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ห่างไกลจากโคจรคาม การเดินทางไม่สะดวก อาจมีปัญหาอุปสรรคมากอีกทั้งทุนในการจัดตั้งและดำเนินการก็ยังมีไม่เพียงพอจึงงดไว้ก่อน

            ต่อมาพระครูสุนทรโฆษิต (แจ่ม ธุวาโภ) [มรณภาพแล้ว]   วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม    กรุงเทพฯ ได้ปรารภว่าวัดมหาสวัสดิ์เป็นวัดสร้างใหม่  ยังไม่มีพระสงฆ์พอที่จะเป็นที่พึ่งของทายกทายิกา ได้  ท่านพระครูฯจึงได้ชักชวนให้พระพรหมโมลีมาดูสถานที่  เมื่อพระพรหมโมลีได้มาดูสถานที่แล้วเห็นว่า   เป็นที่สัปปายะดี ไม่ไกลจากการคมนาคมมาก  และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือท่านได้เปิดโอกาส ให้พระพรหมโมลีมีอิสระในการดำเนินงานบริหารด้านการศึกษาได้อย่างเต็มที่  พระพรหมโมลีจึงจัดตั้งสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆสขึ้นที่วัดมหาสวัสดิ์นาคพุฒาราม  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นต้นมา โดยมีสำนักงานทำหน้าที่บริหารเป็นการชั่วคราวที่  คณะ ๑๑  วัดชนะสงคราม  บางลำภู  กรุงเทพฯ

ยุครับรองสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส  (พ.ศ. ๒๕๓๕)

            เพื่อให้สถาบันฯ สามารถดำเนินงานบริหารได้อย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕  คณะกรรมการบริหารสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส จึงได้ดำเนินการนำคัมภีร์ สัททาวิเสสมาจัดเป็นหลักสูตรชั้นบาลีศึกษา (ชั้นปฐมบาลีและมัธยมบาลี)  และวางระเบียบในการจัดการ เรียนการสอนเสนอต่อสภากรรมการบริหารมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เพื่อเข้าสังกัด เป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัย  อันจะเป็นการเริ่มต้นแห่งการบริหารอย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับ โดยทั่วไป  สภากรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีมติรับสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆสเข้าเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย   สังกัดสำนักงานอธิการบดี

ยุคเริ่มจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา  (พ.ศ.๒๕๓๗)

            ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖   พระพรหมโมลีได้จัดทำโครงการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ชั้นปริญญาตรี)  โดยนำคัมภีร์สัททาวิเสสมาเป็นวิชาพื้นฐานทางด้านภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นวิชาเอก  เพื่อเปิดรับพระภิกษุสามเณรเปรียญธรรม ๕ ประโยคขึ้นไปเข้าศึกษา  เริ่มแรกได้จัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น ๖๐ วันเพื่อทดลองความเป็นไปได้ก่อน  จากนั้นได้ขอความอุปถัมภ์ด้านสถานที่สำหรับใช้ทดลองใช้หลักสูตรจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถร) วัดสามพระยา   เจ้าประคุณสมเด็จฯ  มีเมตตานุเคราะห์ให้ใช้โรงเรียนพระปริยัติธรรมได้  จึงเริ่มทำการ ทดลองใช้หลักสูตรตั้งแต่วันที่  ๔  มีนาคม  ถึงวันที่  ๓  พฤษภาคม  ๒๕๓๖  ผลการทดลองปรากฏว่าน่าพอใจ  สร้างความมั่นใจในการใช้หลักสูตรมากยิ่งขึ้น

ยุคเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  (พ.ศ.๒๕๔๐)

            เมื่อโครงการทดลองจัดการศึกษาคัมภีร์สัททาวิเสสระยะสั้น  ที่วัดสามพระยาสิ้นสุดลง พระพรหมโมลีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อจัดทำ ร่างระเบียบและหลักสูตรปริญญาพุทธ      ศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์  โดยนำคัมภีร์พระไตรปิฎกมาจัดเป็นวิชาเอก  และนำคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูงมาจัดเป็นวิชาแกน  ตามหลักการจัดหลักสูตรระดับอุดมศึกษาทั่วไป  เสนอต่อมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อจัดการเรียนการสอน  โดยสังกัดคณะพุทธศาสตร์  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  สภากรรมการบริหารมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้สถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส     ดำเนินการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้   พระพรหมโมลีและคณะกรรมการจึงได้เริ่มงานจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ ๑  ปีการศึกษา ๒๕๓๗  และในปีเดียวกันนั้น  สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ  ประกาศให้เป็นปีทองของการศึกษาคณะสงฆ์  สภาการศึกษาของคณะสงฆ์  โดยการเสนอของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีมติยกสถานภาพสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส  เป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์  วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม   ในคราวประชุมครั้งที่  ๓/๒๕๓๗ วันที่  ๑  กันยายน  ๒๕๓๗ สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ประธานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์  ทรงลงพระนามในประกาศคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์  เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗

            ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐  รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

            ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย   ครั้งที่ ๓/๒๕๔๓   เมื่อวันที่  ๒๗  เมษายน  ๒๕๔๓  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีมติอนุมัติให้วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม  เปิดหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาพระพุทธศาสนา อีกหนึ่งสาขาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๓  เป็นต้นมา

            ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย   ครั้งที่ ๕/๒๕๔๘   เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘   มีมติอนุมัติให้วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม  เปิดหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ อีกหนึ่งสาขาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๘ เป็นต้นมา

*******************